การแสดงภาพ 3 มิติ เป็นวิธีแสดงภาพให้ผู้ชมมองเห็นภาพมีมิติในแนวกว้าง แนวยาว และแนวลึก ปัจจุบันมีการนำเอาเทคนิคการแสดงภาพ3มิติไปใช้ในการผลิตภาพยนตร์ต่างๆ เพื่อให้มีมิติมากขึ้น จะเห็นตัวอย่างภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์หรืออยู่ในรูปแบบวีซีดี
เทคนิคการแสดงภาพ3มิติ เป็นการนำภาพ2มิติมาแสดงผล โดยมีเทคนิคการแสดงภาพที่ทำให้ตาข้างซ้ายและข้างขวามองเห็นภาพของวัตถุเดียวกันในมุมมองที่แตกต่างกันส่งผลให้สมองตีความเป็นภาพที่มีความลึก
1.การแสดงภาพแอนากลิฟ (anaglyph) เป็นการฉายภาพสำหรับตาซ้ายและตาขวาที่มีโทนสีแตกต่างกันลงบนฉากรับภาพเดียวกัน โทนสีที่ใช้มักจะใช้เป็นสีแดงและน้ำเงิน การมองด้วยตาเปล่าวจะทำให้เห็นเป็นภาพซ้อนและเหลื่อมกันเล็กน้อย การมองภาพให้เป็นภาพ 3 มิติ จึงต้องใช้แว่นที่มีแผ่นกรองแสงด้านหน้ามีข้างหนึ่งเป็นสีแดงและอีกข้างหนึ่งเป็นสีน้ำเงิน แว่นนี้ทำหน้าที่ตัดสีที่ตรงกับสีของแว่นออกไป โดยที่แว่นตาข้างที่มีสีแดงจะตัดภาพสีแดงออกไป ทำให้เห็นแต่ภาพที่มีแต่สีน้ำเงินส่วนแว่นตาข้างที่เป็นสีน้ำเงินจะตัดภาพส่วนที่เป็นสีน้ำเงินออกไปทำให้เห็นแต่ภาพที่เป็นสีแดงซึ่งจะทำให้ตาทั้งสองข้างมองเห็นภาพในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป และสมองจะตีความให้เสมือนว่ามองเห็นภาพเห็น 3 มิติ
2. การแสดงภาพแบบโพลาไรซ์ 3 มิติ (polarized 3-D) มีการทำงานที่คล้ายกับแอนากลิฟโดยการฉายภาพลงที่ฉากรับภาพเดียวกัน และมีมุมมองของภาพที่แตกต่างกันแต่เปลี่ยนจากการใช้สีเป็นตัวตัดภาพไปใช้วิธีการวางตัวของช่องมองภาพแต่ละภาพที่ฉายซ้อนกันแทน เช่น แว่นตาข้างซ้ายจะมองเห็นภาพผ่านช่องในแนวตั้งส่วนแว่นข้างขวาจะมองเห็นภาพผ่านช่องในแนวนอนทำให้ตาแต่ละข้างมองเห็นภาพไม่เหมือนกันเมื่อสมองรวมภาพจากตาซ้ายและตาขวาจะมองเห็นภาพเป็น 3 มิติ แว่นตาที่ใช้เป็นแว่นตาโพลาไรซ์สำหรับมองภาพโพลาไรซ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ภาพมีสีสันสมจริงมากกว่าแบบแอนะกลิฟ เทคนิคนี้นิยมใช้ในภาพยนตร์ 3 มิติ
3.การแสดงภาพแบบแอ็กทิฟชัตเตอร์ (active shutter) จะต้องอาศัยการฉายภาพที่มีความถี่ในการแสดงภาพอย่างน้อย 120 เฮิรตซ์ เนื่องจากจะต้องแสดงภาพสำหรับตาซ้ายและตาขวาสลับกัน ดังนั้นการแสดงภาพจะเป็นลำดับซ้าย-ขวา สลับไปจนครบ120 ภาพใน 1 วินาทีตาข้างซ้ายและข้างขวาจึงเห็นข้างละ 60 ภาพใน1 วินาที ซึ่งเป็นความถี่ขั้นต่ำที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าภาพสั่น การฉายภาพลักษณะนี้จะต้องใช้แว่นตาแอ็กทิฟชัตเตอร์ มาช่วยในการมองภาพโดยแว่นตาจะสื่อสารกับเครื่องฉายว่าจะบังตาข้างไหนในขณะฉายภาพ เช่น ภาพสำหรับตาซ้าย เครื่องฉายจะส่งสัญญาณให้แว่นบังตาข้างขวา หรือถ้าเครื่องฉายแสดงภาพที่ต้องใช้ตาขวาดู เครื่องฉายก็จะส่งสัญญาณให้แว่นบังตาข้างซ้าย
4.การแสดงภาพแบบพาราแลกซ์บาร์เรีย (parallax barrier) จะไม่ใช้แว่นตา ซึ่งโดยวิธีนี้จะแบ่งภาพที่มีมุมกล้องต่างกัน ออกเป็นแท่งแล้วนำไปวางสลับกันโดยมีชั้นกรองพิเศษที่เรียกว่า พาราแลกซ์บาร์เรีย ในการแบ่งภาพให้ตาแต่ละข้างที่มองผ่านชั้นกรองนี้เห็นภาพที่แตกต่างกัน แล้วสมองจะรวมภาพจากตาซ้ายและตาขวาที่มีมุมมองต่างกันนี้ให้เป็นภาพเดียว ทำให้เรามองเห็นเป็นภาพ3มิติ ได้ด้วยตาเปล่า
ในการติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปจะใช้คีย์บอร์ด เมาส์ และแป้นสัมผัสเป็นอุปกรณ์รับข้อมูล นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ที่ออกแบบพิเศษที่ติดเข้ากับจอภาพหรือจอภาพชนิดพิเศษที่สามารถรับข้อมูลโดยใช้นิ้วสัมผัสที่จอภาพโดยตรงเรียกว่า จอสัมผัส (touch screen) ทำให้การใช้งานมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้โดยตรง ตัวอย่าง เช่น จอสัมผัสตู้เอทีเอ็ม จอสัมผัสแสดงข้อมูลร้านค้าในห้างสรรพสินค้า จอสัมผัส เครื่องจีพีเอส จอสัมผัสเครื่องพีดีเอ จอสัมผัสสมาร์ทโฟน จอสัมผัสเหล่านี้สั่งการโดยใช้สไตลัส (stylus) หรือ นิ้วสัมผัสบนจอ การสั่งการที่สัมผัสจอภาพทีละจุด เรียกว่า ซิงเกิลทัช (single touch)
ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับคำสั่งผ่านหน้าจอสัมผัสได้หลายจุดพร้อมกัน เรียกว่า มัลติทัช (multi touch) เทคโนโลยีนี้ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ พีดีเอ และสมาร์ทโฟน แตกต่างกันออกไปแทนที่จะให้อุปกรณ์นั้นรับรู้การเลือกเพียงจุดเดียวในเวลาหนึ่ง ก็ทำให้อุปกรณ์รับรู้สิ่งที่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกหลายจุดพร้อมกันในเวลาเดียวกัน การรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากรูปแบบการเคลื่อนไหวของนิ้วมือลายนิ้วของผู้ใช้สัมผัสไปที่จอภาพโดยตรงหรือในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผู้ใช้สามารถสัมผัสที่แผงแป้นสัมผัสหรือที่เรียกว่า ทัชแพด (touchpad) เพื่อเลือกเลื่อนหรือขยายวัตที่แสดงผลอยู่
ตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีการนำเทคโนโลยีมัลติทัชมาใช้ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์แสดงภาพกล้องดิจิทัล แท็บเล็ต จอภาพคอมพิวเตอร์ การใช้งานเทคโนโลยีมัลติทัชจำเป็นต้องอาศัยการออกแบบโปรแกรมให้เหมาะสมกับรูปแบบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย อาจแยกได้เป็นสองลักษณะ คือ จุดที่เกิดเหตุการณ์และทิศทางการเคลื่อนไหวของจุดที่เกิดเหตุการณ์เช่น จุดที่วางนิ้ว การเลื่อนนิ้วไปทางทิศเดียวกันจากซ้ายไปขวาการเลื่อนนิ้วไปคนละทิศห่างออกจากกันหรือเข้าหากัน รูปแบบเหตุการณ์อาจจะมีตั้งแต่1จุด ที่ใช้นิ้วเดียวในการทำงานจนกระทั่งหลายจุดที่ใช้หลายนิ้วในการทำงาน
โปรแกรมที่ใช้งานแบบมัลติทัชจำเป็นต้องอาศัยฮาร์ดแวร์ที่รองรับการทำงานแบบ มัลติทัชด้วย เช่น จอแสดงภาพแบบมัลติทัช แป้นสัมผัสแบบมัลติทัช
© 2016 Free HTML5. All Rights Reserved. Designed by FreeHTML5.co Demo Images: Unsplash